วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

'''บ้านห้วยแก้ว''' 
หมู่ 5 ตำบลน้ำปั้ว  อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน


==ที่ตั้ง==
             ทิศเหนือ  ติดกับ บ้านน้ำปั้ว หมู่ 4 และ แม่น้ำน่าน
             ทิศใต้  ติดกับ บ้านไชยสถาน ตำบลกลางเวียง
             ทิศตะวันออก  ติดกับ แม่น้ำน่าน
             ทิศตะวันตก  ติดกับ ตำบลปงสนุก

==การปกครอง=

มีการปกครองกันในหมู่บ้าน คือ ผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ดูแลประชาชนในหมู่บ้าน

==ประวัติหมู่บ้าน==

            ซึ่งแต่เดิมมีชื่อว่า “บ้านฉางข้าว” เพราะเป็นเจ้านายซึ่งเป็นผู้ครองนครน่านเป็นเจ้าของในพื้นที่ไร่นาบริเวณนี้ เช่น นาหลวง (ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของสะพานลำห้วยแก้ว) แต่ก่อนบ้านฉางข้าวอยู่ทางทิศเหนือของบ้านนายคำปัน  สารณะ (เสียชีวิตแล้ว) แต่ที่ไม่เห็นในปัจจุบันนี้เพราะว่าแม่น้ำน่านได้พังทลายเอาส่วนบริเวณนี้ออกไปแล้ว
  สมัยก่อนนั้นเป็นการปกครองแบบเจ้านายขุนมูลนายหรือการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ก่อนปี พ.ศ.2475 บ้านฉางข้าวบางทีก็เรียกว่า “บ้านเก้าม่วง” เหตุที่เรียก เพราะมีต้นมะม่วงขนาดใหญ่อยู่ใกล้บริเวณที่ตั้งฉางข้าว ฉางข้าวเป็นที่เก็บข้าวของราษฎรที่ทำให้เจ้านาย ในแต่ละปีหรือเรียกเก็บเป็นระบบนารวม ผู้ใดจะเอาฉางข้าวกินในครอบครัวที่ทำงานนั้นมีกี่คนจะได้คนล่ะกี่ต๋าง (1 ต๋าง เท่ากับ 1 กระบุง) แต่จะเป็นข้าวเปลือกหรือข้าวสารนั้นแล้วแต่เจ้านายจะตกลงกันไว้ ในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเจ้านายแต่งตั้งหัวหน้าเป็นท้าว พญา แสน ล่าม หลวง เท่าที่ได้รับข้อมูล สมันนั้นบ้านห้วยแก้วนี้มี แสนหลวงกันตา และ จันตาล่าม คือแสนหลวงได้รับเรื่องจากเจ้านายแล้วนำไปบอกเล่าให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้น (ล่าม คือ ผู้ประชาสัมพันธ์)
  ขอย้อนไปถึงการทำนาของเจ้านายที่บ้านนั้นท่านจัดราษฎร (ที่เป็นทาส) ได้กำหนดไว้ดังนี้ พวกแรกมีหน้าที่ถากถางป่าที่จะทำนาและเตรียมหว่านข้าวไว้สำหรับจะนำไปปลูก และต้องคอยดูแลต้นกล้าอ่อน พวกที่ 2 เป็นพวกทำนา คือ นำวัวควายไปทำการไถนาแล้วช่วยกันไถ คราดให้เรียบร้อยและมีราษฎร พวกที่ 3 ไปปลูกและดำนา ส่วนการดูแลและรักษาทุกคนจะช่วยกันดูแลตลอดถึงการเก็บเกี่ยวเข้ายุ้งฉาง และเจ้านายก็มีกฎเกณฑ์ในการแบ่งปันข้าวตามจำนวนคนที่ทำงานในแต่ล่ะครอบครัวโดยให้ข้าวเปลือกเป็นรายเดือน ๆ ล่ะ 1 ต๋าง ( 1กระบุง ต่อ คน) กฎเกณฑ์นี้ใช้เฉพาะครอบครัวที่เป็นทาส กลุ่มบ้านเก้าม่วง มีเจ้าหนานมหายศและแม่เจ้าเกี๋ยงคำ ณ น่าน เป็นผู้มาควบคุมดูแลกิจการ โดยเจ้านายมาสร้างโฮง(บ้าน) ให้ซึ่งโฮงนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดร้าง ริมแม่น้ำน่าน บริเวณการประปาหมู่บ้านในปัจจุบัน (ปัจจุบันไม่มีหลักฐานเพราะแม่น้ำพังทลายไปแล้ว) เจ้านายผู้ที่มาตั้งฉางข้าวเป็นครอบครัวแรกในบ้านห้วยแก้ว คือ เจ้าหนานมหายศ เจ้าแม่เกี๋ยงคำ   ณ น่าน ซึ่งเป็นตระกูลของพ่อลักษณ์  ณ น่าน
            และมีราษฎรในตำบลน้ำปั้ว และ ตำบลตาลชุม มาร่วมตั้งที่อยู่และมาทำมาหากิน ทำไร่ เพิ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา คำว่า “ห้วยแก้ว” ได้มาจากชื่อของลำห้วย ๆ หนึ่ง ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านในปัจจุบัน ในลำห้วยแก้วนี้เมื่อครั้งก่อนจะมีก้อนหินที่โปร่งใสแบบกระจกใส รูปทรงเป็นเหลี่ยม หลายเหลี่ยมแตกต่างกันไป และบางก้อนจะมีเส้นใยอยู่ข้างในเส้นสีเหลือง สีทอง และสีเขียวก็มี ชาวบ้านจึงเรียกว่าแก้วโป่งขาม เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านได้ไปขุดมาขายให้กับพ่อค้านำไปทำเป็นหัวแหวนนำมาขาย ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว
            ในระยะต่อมาบ้านฉางข้าวหรือบ้านเก้าม่วง ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บ้านห้วยแก้ว” เพราะเจ้านายนั้นได้อาศัยเอาน้ำห้วยแก้วมาหล่อเลี้ยงในนาข้าวเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันนี้ลำห้วยแก้วได้ตื้นเขินไปแล้วซึ่งเหลือให้เห็นในปัจจุบัน แต่ก่อนลำห้วยแก้วมีน้ำตลอดปีที่เรียกห้วยแก้วนี้ เพราะน้ำไหลมาตามเชิงเขาห้วยแก้วต้นน้ำที่เป็นป่าเขา มีแก้วอยู่โดยมีผู้ขุดเอาไปเจียระไนและเป็นแหล่งของแก้วโป่งขามและแก้วขุนบุ้ง แก้วสีหลายชนิดเคยเคยมีผู้ขุดนำจำหน่ายก็เคยมี
            พอหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป สำหรับไร่นาก็จัดการขายให้ราษฎร ประกาศเลิกทาสทุกคนก็มีสิทธิเท่าเทียมกันไม่มีคำว่าทาสอีกต่อไป


***ผู้ให้ข้อมูล***
            นายลักษณ์   ณ น่าน (เสียชีวิตแล้ว)
****อ้างอิงข้อมูลจาก*****
            หนังสือประวัติหมู่บ้าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน หน้าที่ 310 – 311 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ปี 2544

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น